ผลของพระวิญญาณ
ก. ความหมาย
“ผล” ในที่นี้เป็นผลแบบ “ผลไม้” ซึ่งเกิดขึ้นจากต้นที่เจริญเติบโตสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น “ผลของพระวิญญาณ” จึงหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานของพระวิญญาณในชีวิตของผู้เชื่อ ซึ่งภาษาศาสนศาสตร์เรียกว่า “การชำระให้บริสุทธิ์” เป็นงานที่พระวิญญาณที่ทำร่วมกับเราตลอดชีวิตของเรา เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์
ดังนั้นถ้าเราอยากจะเข้าใจลักษณะของคนที่มีผลของพระวิญญาณอย่างสมบูรณ์ เราสามารถศึกษาได้จากชีวิตของพระเยซู เพราะพระองค์เป็นผลแรกของผู้เชื่อทุกคน
ข. ความสำคัญ
คริสเตียนเพนเตคอสมักจะสนใจเกี่ยวกับของประทานมากกว่าผลของพระวิญญาณ แต่ความจริงแล้วของประทานและผลของพระวิญญาณก็มีความสำคัญมากพอๆกัน ในขณะที่เราสนใจเรื่องของประทาน เราก็ควรจะสนใจเรื่องผลของพระวิญญาณด้วย เพราะเมื่อมีการพิพากษาพระเจ้าก็ไม่ได้วัดจากของประทานมากเท่ากับการดูจากผลพระวิญญาณที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา (มธ.7:21-23)
ยอห์น 15:1-17 พระเยซูคริสต์ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า พระเจ้าทรงเรียกเรามาเพื่อให้ “เกิดผล” ถ้าเราอ่านให้ครบทั้งตอน เราจะพบว่า “ผล” ที่พระเยซูคริสต์ทรงกล่าวถึงนี้คือ การประพฤติตามบัญญัติพระคริสต์และยึดมั่นในความรักของพระองค์ ดูเหมือนว่าพระเยซูคริสต์จะเน้น “ความรัก” ซึ่งเป็นผลแรกของผลพระวิญญาณมาก ซึ่ง “ผล” ในที่นี้ก็น่าจะหมายถึง “ผลของพระวิญญาณ” มากกว่าที่จะหมายถึง การนำคนมาเชื่อหรือความสำเร็จในการทำงานรับใช้
กาลาเทีย 5:19-23 ถ้าเราไม่มีผลของวิญญาณ ชีวิตเราก็จะเต็มไปด้วยผลของเนื้อหนัง 2 โครินธ์ 5:17 กล่าวว่าถ้าเราอยู่ในพระเยซูคริสต์ผลเนื้อหนังก็จะต้องล่วงไป และจะเกิดผลใหม่คือผลของพระวิญญาณในชีวิตของเรา
ภาพรวมของผลพระวิญญาณ
ผลของพระวิญญาณ | ของประทานของพระวิญญาณ |
เพื่อสำแดงคุณลักษณะฝ่ายพระคุณของพระวิญญาณ | เพื่อสำแดงฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณ |
เพื่อสำแดงพระฉายและพระสิริของพระเจ้า | เพื่อการปรนนิบัติรับใช้ที่เกิดผลมาก |
เป็นพระราชกิจที่พระวิญญาณกระทำในเรา | เป็นพระราชกิจที่พระวิญญาณกระทำผ่านเรา |
เพื่อให้ปรากฏสม่ำเสมอในชีวิตผู้เชื่อ | เพื่อสำแดงออกเมื่อพระวิญญาณต้องการ |
มีการพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นตลอดเวลา | มีการพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นตลอดเวลา |
เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล | เพื่อประโยชน์ของคริสตจักร |
รับได้ด้วยการติดสนิทกับพระเจ้า | รับได้ด้วยความเชื่อ |
ทุกคนสามารถรับได้ทั้งหมด | ทุกคนได้รับ แต่ไม่มีใครรับได้ทุกอย่าง |
ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลของพระวิญญาณ
1) คำว่า “ผล” เป็นเอกพจน์ มีเพียงผลเดียว เป็นผลรวม (เหมือนผลสัปรสหรือน้อยหน่า) มีหลายลักษณะพร้อมกัน (กท.5:22-23 = 9 ประการ)
2) ผลของพระวิญญาณ เหมือนพระลักษณะเชิงคุณธรรมของพระเจ้า ผลจึงเป็นธรรมชาติที่จะต้องเกิดขึ้นในลูกของพระเจ้า แต่จะสมบูรณ์และชัดเจน(เกิดผลมาก) ในบุคคลที่ติดสนิทกับพระคริสต์และรับการลิดแขนงอย่างดี (ดู ยน.15:1f.)
3) ผล ไม่ใช่เป็น “ผลงาน” แต่เป็น “บุคลิกลักษณะชีวิต”
4) เราจะเกิดผลได้โดย การติดสนิทกับพระคริสต์ (ยน.15:1-17) คือ ยึดมั่นในความรักพระคริสต์(9) ยึดมั่นและปฏิบัติตามพระวจนะ(7,10)
5) ความรักเป็นผลแรก (ยน.15:12 ดู 1คร.13:1-3,13)
ความหมายของผลแต่ละอย่าง
4.1 ภาพรวม
ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข | ขึ้นอยู่กับ/ต่อพระเจ้า |
ความอดกลั้นใจ ความปราณี ความดี | ขึ้นอยู่กับ/ต่อสังคม |
ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน | ขึ้นอยู่กับ/ต่อตนเอง |
4.2 ความหมายของผลแต่ละอย่าง
1) ความรัก(agape) ความรักถูกเขียนลงเป็นประการแรกเพราะ เป็นผลที่ใหญ่ที่สุด เมื่อเรามีความรักสิ่งอื่นๆก็จะตามมา(1คร.13:13) ความรักเป็นข้อพิสูจน์ว่าใครเป็นลูกของพระเจ้า(1ยน.4:8) ในคำสอนของอัครทูตเปาโลใน รม.8:28,31,37 ได้เน้น 3 จุดเกี่ยวกับความรักของพระเจ้าคือ (1)พระเจ้าทรงส่งพระบุตรลงมาสิ้นพระชนม์บนกางเขนเพราะทรงรักมนุษย์ (2)พระเจ้าทรงเรียกคนที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้แล้วด้วยความรัก (3)ความรักของพระเจ้านั้นมั่งคงชั่วนิรัดร์ไม่มีวันสิ้นสุด ส่วนลักษณะของความรักที่สมบูรณ์แบบท่านได้สอนอยู่ใน 1คร.13:4-7 รักที่ต้องทิ้งนิสัยที่ไม่ดี ทำในสิ่งที่ดีต่อคนอื่น และทนต่อความบกพร่องของเขา
2) ความปลาบปลื้มใจ(chara) หมายถึง ความยินดีที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เกิดขึ้นได้จากการที่เราติดสนิทกับพระคริสต์(ยน.15:11) เป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ขึ้นอยู่กับความรู้ที่แน่ชัดจากประสบการณ์ว่าพระเจ้าทรงควบคุมอยู่เหนือสถานการณ์ทุกอย่าง (รม.8:28) ทำให้สถานการณ์เหล่านั้นเป็นผลดีต่อเราในที่สุด
3) สันติสุข(eirene) หมายถึง ความสุขสงบ ความมั่นคงในจิตใจ ที่เกิดขึ้นจากการคืนดีกับพระเจ้า สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสันติสุขคือ ความกังวลวุ่นวาย ความขัดแย้งทั้งต่อตนเองหรือกับผู้อื่น (ฟป.4:7) สันติสุข ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจที่เรามีต่อพระเจ้า และมอบปัญหาทุกอย่างไว้ในพระองค์ ขอให้สังเกตุว่า สันติสุขเป็นคำทักทายที่เปาโลมักเขียนในจดหมายฝากของท่านเสมอคู่กับคำว่า “พระคุณ”
4) ความอดกลั้นใจ(makrothymia) หมายถึง การควบคุมตนเองจากการกระตุ้นเร้าของอารมณ์โกรธ โมโห หรือความเกลียดชัง คำนี้มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “อดทน” (2คร.6:6 คส.1:11;3:12) ดูตัวอย่างของพระเยซูเมื่อทรงถูกเยาะเย้ยในระหว่างการพิพากษาและการตรึงบนกางเขน เราจะสังเกตุเห็นว่า ความกดดันหรือความบีบคั้นภายนอกไม่มีอิทธิพลต่อจิตใจของพระองค์เลย พระองค์ยังคงตอบโต้พวกเขาอย่างถูกต้องเสมอ
5) ความปราณี(chrestotes) หมายถึง การเมตตากรุณาต่อผู้อื่นในสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีความรักของพระเจ้าในชีวิต เป็นลักษณะเดียวกันกับการที่พระเยซูทรงลงมารับโทษแทนเรา ซึ่งเป็นเพราะความกรุณาของพระองค์ที่มีต่อเรา (รม.2:4 อฟ.2:7)
6) ความดี(agathoyne) หมายถึง ความเป็นคนมีน้ำใจ มีใจกว้าง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สำแดงความรักต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคนที่อยู่ในการประพฤติที่ถูกต้องเสมอ เป็นลักษณะของการแสดงออกภายนอกมากกว่าความปราณีที่อยู่ในใจ
7) ความสัตย์ซื่อ(pistis) หมายถึง การเป็นคนที่ไว้ใจได้ เชื่อถือได้ มีความรับผิดชอบสูง (ลก.16:10-12) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เราเป็นผู้อารักขาของพระเจ้า หรือเป็นคนต้นเรือนของพระเจ้า เราจะต้องสัตย์ซื่อในเรื่องเวลา การเงิน ความสามารถและของประทานของเรา ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ในอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าจะต้องพิพากษาเราเมื่อวันสุดท้ายมาถึง
8) ความสุภาพอ่อนน้อม(prautes) หมายถึง การถ่อมใจ เห็นคนอื่นดีกว่าตน นอบน้อมต่อพระเจ้า หรือน้อมใจต่อพระวจนะของพระองค์(ยก.1:21) สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามองเห็นคุณค่าของผู้อื่น มองคนด้วยสายตาของพระเจ้า (กท.6:1 2ทธ.2:25)
9) การรู้จักบังคับตน(enkrateia) เป็นคำนามที่ใช้เพียง 3 ครั้งในพระคัมภีร์ (กจ.24:25, 2ปต.1:6) หมายถึง ความอดกลั้นต่อกิเลสตัณหาและความต้องการของเนื้อหนังหรือธรรมชาติบาปของตนเอง เป็นความสามารถในการควบคุมความต้องการธรรมชาติเหล่านี้ให้อยู่ในทางที่เหมาะสม และมีการแสดงออกหรือตอบสนองอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
………………………………………………………..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น