ความชูใจของเรา
( 2 โครินธ์ 1:1 – 24 )
1 เปาโล ผู้เป็นอัครทูตของพระเยซูคริสต์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า และทิโมธีน้องของเรา
เรียน คริสตจักรของพระเจ้าที่เมืองโครินธ์ และบรรดาธรรมิกชนที่อยู่ทั่วแคว้นอาคายา
2 ขอพระคุณและสันติสุขซึ่งมาจากพระบิดาเจ้าของเรา และจากพระเยซูคริสตเจ้า จงมีแก่ท่านทั้งหลายเถิด
3 สาธุการแด่พระเจ้า พระบิดาแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา พระบิดาผู้ทรงความเมตตา พระเจ้าแห่งความชูใจทุกอย่าง
4 พระองค์ผู้ทรงชูใจเราในการทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา เพื่อเราจะสามารถชูใจคนเหล่านั้น ที่มีความทุกข์ยากอย่างใดอย่างหนึ่งได้ด้วยความชูใจ ซึ่งตัวเราเองได้รับจากพระเจ้า
5 เพราะว่าเรามีส่วนทนทุกข์กับพระคริสต์มากฉันใด ความชูใจของเราเนื่องจากพระคริสต์ก็มากฉันนั้น
6 ที่เราทนความทุกข์ยากนั้น ก็เพื่อให้ท่านได้ความชูใจและความรอด และที่เราได้รับความชูใจ ก็เพื่อให้ท่านได้รับความชูใจด้วย ซึ่งท่านจะได้รับเมื่อเพียรสู้ทนความทุกข์เหมือนอย่างเราได้ทนนั้น
7 เราจึงมีความหวังแน่นอนในท่านทั้งหลาย เพราะเรารู้ว่าท่านทั้งหลายได้มีส่วนในความทุกข์ยากของเราฉันใด ท่านทั้งหลายจะได้มีส่วนในความชูใจของเราฉันนั้น
1. แหล่งแห่งความชูใจ (1-4)
ก. ความหมายของ “ ความชูใจ ”
คำว่า “ ชูใจ ” ปรากฏ 9 ครั้งใน 2 โครินธ์ 1:3-7 ในพจนานุกรม ( Webster’s Dictionary )ให้ความหมาย “ ชูใจ ” ( comfort ) ไว้ว่า “ การสนับสนุน การเล้าโลม การเสริมกำลังเรี่ยวแรง ” คำว่า “ ชูใจ ” มาจากคำในภาษาลาตินซึ่งหมายถึง “ เสริมกำลังอย่างมากมาย ” เมื่อเราพิจารณาคำในภาษากรีกซึ่งเปาโลใช้นั้น ทำให้เราได้ความหมายในพันธสัญญาใหม่ที่สมบูรณ์ พารา “ Para ” หมายถึง “ ข้าง ” และ คาเลโอ ( Kaleo ) หมายถึง “ การเรียก ” ดังนั้นคำว่า “ พาราคาเลโอ ” ( Parakaleo ) หมายถึง “ การเรียกมาอยู่เคียงข้าง ” และยังมีความหมายในสิ่งที่คนนั้นกระทำ ซึ่งเรียกคนนั้นว่า “ ถูกเรียกมาอยู่เคียงข้างเพื่อช่วยเหลือ หรือแปลว่า “ ให้การชูใจ ”
เมื่อ “ พาราเคลซิส ” ( paraklesis ) หมายถึง “ การชูใจ การเล้าโลม การหนุนใจ ” ฉะนั้นคนที่ถูกเรียกให้ช่วยเหลือเรียกว่า “ พาราเคลทอส ” ( Parakletos ) หมายถึง “ ผู้ชูใจ ผู้เล้าโลม ผู้ช่วย ” ( ทนายความที่แก้คดี )
พระเยซูคริสต์ทรงใช้คำนี้กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในยอห์นบทที่ 14 พระองค์ทรงเสด็จมาช่วยเหลือพวกเราตามคำร้องทูล และพระองค์ทรงสถิตอยู่ในเราเพื่อเสริมกำลังเรี่ยวแรงเรา ให้คำปรึกษาเรา และวิงวอนให้เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง พระองค์ทรงเล้าโลมเราเมื่อเราเศร้าโศกเสียใจ เมื่อพระองค์ทรงสถิตอยู่ในเราพระองค์ทรงปรารถนาที่จะทำงานผ่านเรา เพื่อให้คนอื่นได้รับความชูใจเดียวกันนี้เหมือนอย่างที่เราได้รับจากพระองค์ (ยอห์น 14:16-17, 26; 2 โครินธ์ 1:3-5 ) ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือเมื่อเปาโลหนุนใจผู้ร่วมเดินทางบนเรือในท่ามกลางพายุ เปาโลหนุนใจพวกเขาได้เพราะว่า ทูตสวรรค์ของพระเจ้าได้หนุนใจเปาโล ( กิจการ 27:21-26 )
ฉะนั้น การชูใจ มีความหมายมากไปกว่าการแสดงความสงสาร หรือคำพูดที่เล้าโลมปลอบใจผู้ที่อยู่ในความความทุกข์โศกเศร้าเสียใจ แต่รวมถึงการเสริมกำลังเรี่ยวแรงและการให้การสนับสนุนคนที่ต้องการคำพูดที่อ่อนสุภาพ เป็นการอยู่เคียงข้างด้วยความรัก แสดงความเห็นอกเห็นใจ และมีคำพูดแห่งการหนุนน้ำใจ เราทราบถึงแหล่งที่มาแห่งการชูใจคือ “ พระบิดาผู้ทรงเมตตา พระเจ้าแห่งความชูใจทุกอย่าง ” ( 2 โครินธ์ 1:3 ) พระองค์ทรงยืนอยู่เคียงข้างเราเพื่อเสริมกำลังเรี่ยวแรงให้กับเราอย่างมากมาย
ข. พระเจ้าคือแหล่งแห่งความชูใจทั้งสิ้น (3)
พระลักษณะ 2 ประการของพระเจ้าแห่งความชูใจของเรา
1) เป็นพระบิดาผู้ทรงเมตตา
3 สาธุการแด่พระเจ้า พระบิดาแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา พระบิดาผู้ทรงความเมตตา พระเจ้าแห่งความชูใจทุกอย่าง
พระองค์สำแดงกับเราในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดา” ของเรา แต่อาจจะมีบิดาบางคนที่เป็นบิดาจริง แต่ไม่ได้ป็นผู้ที่ให้ความชูใจกับบุตรของตน แต่พระเจ้าไม่ได้เป็นบิดาเช่นนั้น พระองค์เป็นบิดาที่ “เมตตา” พระองค์ทรงสนใจชีวิตของเรา เข้าใจความทุกข์ของเรา ไม่เคยทอดทิ้งเรา อยู่เคียงข้างเราเสมอในทุกเวลา ทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์
คำถาม : ทำไม่คนจำนวนมากจึงฆ่าตัวตาย?
คำตอบ : เขาอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีใครเข้าใจเขา (ไม่รู้จักคนที่เข้าใจและให้ความเมตตากับเขา)
2) เป็นพระเจ้าแห่งความชูใจทุกอย่าง
แท้จริงในชีวิตของเรามักจะไม่เลวร้ายซะเลยทีเดียว เรายังคงมีใครบางคนที่สามารถเข้าใจและให้กำลังใจเราได้ในบางเวลา ในบางเรื่อง ในบางโอกาส และในบางสถานการณ์ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะเรายังมีความต้องการมากกว่านั้น
ตัวอย่าง : น้องคนหนึ่งเข้ามาศึกษาในกรุงเทพ ปีที่ 1 เขารู้สึกว้าเหว่ ขาดคนที่ให้กำลังใจ ในที่สุดก็ได้พบกับชายหนุ่มที่สนใจเขา เอาใจใส่เขาเสมอ เป็นคนที่ทำให้เขารู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น เขารู้สึกว่าเขาได้พบกับพระเอกขี่ม้าขาวที่มาในเวลาที่เขาต้องการ ความสัมพันธ์จึงลึกซึ้งเลยเถิด จนกระทั่งพลาดพลั้งมีลูกด้วยกัน 1 ปีผ่านไป ชายที่เป็นพ่อพระ ค่อย ๆ เปิดเผยตัวจริงออกมา ทำให้ชีวิตของเขาตกต่ำแย่ยิ่งกว่าตอนที่ไม่ได้พบกับชายคนนี้มาก
“ทุกอย่าง” : หมายความว่า “ทั้งหมด ทั้งสิ้น ทุกเวลา ทุกกรณี ทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์” เรามีพระเจ้าที่เข้าใจเราอย่างไม่รู้จักจบสิ้น อะไรที่สามารถทำให้เราได้รับความชูใจ พระองค์ก็จะทำ เราไม่ต้องมีความวิตกกังวลใด ๆ ทั้งสิ้นว่าพระเจ้าจะไม่ช่วยเรา พระองค์พร้อมเสมอสำหรับเรา
ค. คนของพระเจ้าคือถ่ายทอดความชูใจ (4)
4 พระองค์ผู้ทรงชูใจเราในการทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา เพื่อเราจะสามารถชูใจคนเหล่านั้น ที่มีความทุกข์ยากอย่างใดอย่างหนึ่งได้ด้วยความชูใจ ซึ่งตัวเราเองได้รับจากพระเจ้า
ตัวอย่าง : สำนวนหนึ่งที่ถูกยกเป็นสโลแกนของพันธกิจร่มเย็นคือ
“ ปราศจากพระเจ้า เราทำอะไรไม่ได้ ปราศจากเรา พระเจ้าไม่ทำอะไร ”
แม้สำนวนนี้จะไม่ถูกต้องทั้งหมดตามหลักศาสนศาสตร์ แต่ก็ทำให้เราเห็นความจำเป็นของ “คนที่ยอมให้พระเจ้าใช้” แท้จริงแล้ว ปราศจากเราพระเจ้าก็ทำได้ แต่เป็นพระคุณที่พระองค์ทรงใช้เราให้ทำการของพระองค์
แน่นอนว่า ความชูใจที่เราต้องการนั้น 100% มาจากพระเจ้า แต่พระองค์อาจจะไม่ค่อยได้ส่งมาถึงเราโดยทั้ง 100% ดังนั้นในชีวิตจริงเรามักจะพบว่า ความชูใจของเราอาจจะมาจากหลาย ๆ ทาง เช่น
- พระวจนะของพระเจ้า
- ผู้รับใช้พระเจ้า
- พี่น้องคริสเตียน / เพื่อน / ญาติมิตรของเรา
- นิมิต / ความฝัน / เสียงของพระวิญญาณ
- เหตุการณ์ / การอัศจรรย์
ดังนั้น เปาโลจึงได้ตระหนักถึงความจริงในเรื่องนี้ ท่านรู้ว่าการทนทุกข์ยากลำบากของท่าน นำไปสู่ความชูใจของพระเจ้า เมื่อท่านได้รับความชูใจ ท่านก็สามารถนำเอาประสบการณ์แห่งความชูใจนั้นไปให้กับผู้อื่นได้
ตัวอย่าง : นักเทศน์มีความสุข สมาชิกก็มีความสุข / พ่อแม่มีความสุข คนในครอบครัวก็มีความสุข / ครูมีความสุข นักเรียนก็มีความสุข / คนขับรถมีความสุข ผู้โดยสารก็มีความสุข – ถ้าตรงกันข้ามจะเกิดอะไรขึ้น ??????
อย่าลืมว่า ความชูใจที่พระเจ้าให้กับเรา ต้องไม่จบลงที่เรา จงสืบสานถ่ายทอดไปสู่คนอื่น ๆ ต่อไป พระเจ้าต้องการที่จะใช้เราทุกคนเป็นสื่อแห่งความชูใจของพระเจ้าให้กับพี่น้องที่อยู่ในความทุกข์ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ โลกจะน่าอยู่ พระเจ้าก็สามารถทำการของพระองค์ผ่านเราได้เต็มที่
จะเกิดอะไรขึ้น : เมื่อคริสเตียนทุกคนเรียนรู้ที่จะแสวงหาความชูใจจากพระเจ้าในชีวิตของเรา แล้วเรียนรู้ที่จะสืบทอดความชูใจนี้ไปสู่พี่น้องของเรา ซึ่งก็จะปรากฏภาพของการแบ่งปันความชูใจให้แก่กันและกัน ในที่สุดเราคริสเตียนก็แบ่งปันความชูใจนั้นไปสู่ญาติมิตรที่ยังไม่เชื่อต่อ ๆ ไป พวกเขาก็จะสามารถสัมผัสได้ว่า คริสเตียนคือกลุ่มคนที่มีความสุข และนำความสุขสู่สังคม เขาจะรู้สึกเป็นสุขเมื่ออยู่ใกล้คริสเตียน เขาจะชื่นชมยินดีกับพระเจ้าที่เราเชื่อ
2. จุดประสงค์แห่งความชูใจ (5-7)
5 เพราะว่าเรามีส่วนทนทุกข์กับพระคริสต์มากฉันใด ความชูใจของเราเนื่องจากพระคริสต์ก็มากฉันนั้น
6 ที่เราทนความทุกข์ยากนั้น ก็เพื่อให้ท่านได้ความชูใจและความรอด และที่เราได้รับความชูใจ ก็เพื่อให้ท่านได้รับความชูใจด้วย ซึ่งท่านจะได้รับเมื่อเพียรสู้ทนความทุกข์เหมือนอย่างเราได้ทนนั้น
7 เราจึงมีความหวังแน่นอนในท่านทั้งหลาย เพราะเรารู้ว่าท่านทั้งหลายได้มีส่วนในความทุกข์ยากของเราฉันใด ท่านทั้งหลายจะได้มีส่วนในความชูใจของเราฉันนั้น
ก. เพื่อให้มีความอดทนในการทนทุกข์กับพระคริสต์ (5)
การที่เราจะมีความอดทนและสามารถใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่ทุกข์ยากลำบากได้อย่างตลอดรอดฝั่งนั้น สิ่งสำคัญก็คือ กำลังใจ หรือจะเรียกให้ลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือ ความชูใจ
ตัวอย่าง : ผู้เชื่อชาวโครินธ์บางคนได้วิจารณ์เปาโล ท่านเขียนจดหมายฉบับนี้เมื่อแก้ไขความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น ( 2 โครินธ์ 1:12-14 ) เมื่อเปาโลเปลี่ยนแผนการเดินทางของท่าน จึงทำให้ท่านได้รับคำกล่าวร้ายดังนี้ “ เราไม่สามารถพึ่งในเปาโล ท่านไม่ได้รักษาคำมั่นสัญญาของท่าน ท่านไม่มีความจริงใจ ท่านเป็นคนขี้ขลาด ท่านกลัวที่จะเดินทางกลับมา ท่านมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ”
พระสัญญาและการทรงสถิตของพระเจ้าเป็นแหล่งสำคัญแห่งความชูใจและพละกำลังของพวกเรา พระองค์ทรงตรัสว่า “ เราจะไม่ละท่านหรือทอดทิ้งท่านเลย ” ( ฮีบรู 13:5 )
เราสามารถที่จะเห็นคุณค่าในความหมายของคำว่า “ อิมมานูเอล ” ( Immanuel ) พระเจ้าทรงสถิตกับเรา พระองค์ทรงสำแดงพระองค์เองให้กับอับราฮัม โมเสส เอลียาห์ และบุคคลสำคัญในพันธสัญญาเดิม “ พระวาทะได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ และทรงอยู่ท่ามกลางเรา ….” ( ยอห์น 1:14 ) และการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซูคริสต์ ( พระวาทะ ) เป็นเหตุให้พระบิดาสั่งผู้ช่วย ( พระวิญญาณบริสุทธิ์ ) “ เพื่อจะได้อยู่กับท่านตลอดไป “ ( ยอห์น 14:16 ) ผู้ช่วยองค์นี้ ( พระวิญญาณบริสุทธิ์ ) ทรงสถิตอยู่กับเปาโลเมื่อศัตรูของท่านกล่าวร้ายท่านว่าเป็นคนขี้ขลาดและเป็นคนฝ่ายเนื้อหนังต่อหน้าคริสตจักรโครินธ์ และในเวลานี้พระองค์ทรงสถิตอยู่กับเรา พระองค์ทรงกระทำกิจของพระองค์ในปัจจุบันนี้พระองค์ทรงปฏิบัติตามแผนการนิรันดร์ของพระองค์ ( เอเฟซัส 3:11 ) พระองค์ทรงตอบสนองคำร้องทูลเรา พระองค์ทรงให้พระสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริงโดยพระเยซูคริสต์เจ้า ( 2 โครินธ์ 1:20 ) ความอัศจรรย์อย่างหนึ่งของคริสเตียนนั้นก็คือ พระเจ้าทรงตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์และพระองค์ทรงเสริมกำลังเรี่ยงแรงเมื่อเราอยู่ภายใต้ความกดดันเกินกว่าที่เราจะสามารถทนได้
ข. เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่พี่น้องในความเพียร (6)
คำถาม : ทำไมคริสเตียนดี ๆ หรือผู้รับใช้ที่ดี ๆ ต้องเผชิญกับความทุกข์?
คำตอบ : เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการจะเห็นตัวอย่างมากกว่าเห็นแค่คำพูด ดังนั้นผู้รับใช้ที่ดี ๆ
ของพระเจ้า พระองค์มักจะอนุญาติให้เขาต้องพบความทุกข์ เพื่อในความทุกข์นั้นเขาจะได้เปล่งประกายแห่งความหวังใจในความเชื่อให้เจิดจ้ายิ่งขึ้น คนทั้งหลายที่ได้สัมผัสชีวิตของเขาจะได้เห็นพระคุณพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ผ่านชีวิตของเขา ทำให้คนเหล่านั้นเกิดพลังใจในเวลาที่เขาต้องเผชิญกับความทุกข์
จะทุกข์หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับจะจัดการอย่างไรกับความทุกข์ ถ้าเรายินดีที่จะอดทนต่อความทุกข์ ได้รับความชูใจในความทุกข์ เผชิญความทุกข์ด้วยความเพียร เราจะเป็นพระพรกับคนมากมาย
ดังนั้นสำคัญมากที่เราจะต้องเผชิญความทุกข์ด้วยความเพียร และเรียนรู้ที่จะรับความชูใจจากพระเจ้า อย่างน้อยที่สุดก็เห็นแก่คนอื่น ๆ ที่กำลังมองดูชีวิตของเราอยู่
ตัวอย่าง : คนที่กลายเป็นพลังใจให้คนทั้งโลก มักจะเป็นคนที่เอาชนะความทุกข์ด้วยความเพียร เช่น จอห์นนี่ / อับราฮัม ลิงคอนน์ / วินสตั้น เชอร์ชิล
“ก่อนที่จะได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ จำเป็นที่จะต้องฝ่าฟันความทุกข์ครั้งใหญ่ก่อน”
ค. เพื่อชูใจพี่น้องให้เข้าส่วนในการทนทุกข์กับพระคริสต์ (7)
เป็นผลมาจากการที่คนได้เห็นแบบอย่างตามข้อ ข. เมื่อคนอื่น ๆ เห็นว่า ในความทุกข์นั้นมีความชูใจที่ยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่ ทุกคนก็จะอยากรับความชูใจ อยากเป็นส่วนหนึ่งของความชื่นชมยินดีในชัยชนะนั้น
ตัวอย่าง : ความทุกข์ของนักกีฬา เมื่อผ่านทุกข์และได้รับชัยชนะ เขาก็จะได้รับเกียรติอย่างมากมาย ทำให้คนจำนวนมากอยากเป็นนักกีฬา อยากเล่นกีฬา อยากฝึกกีฬา ทั้งที่รู้ว่ามันต้องเหนื่อย มันต้องเพียร มันต้องลงทุน แต่พวกเขายอม เพราะรู้ว่าในกีฬานั้นมีความชื่นชมยินดีซุกซ่อนอยู่
ดังนั้น
- ถ้าเราติดตามพระเจ้าอย่างมีความสุข แม้สถานการณ์จะมีแต่ทุกข์ ก็จะมีคนจำนวนที่อยากเข้ามาติดตามพระเจ้าเหมือนกับเรา
- ถ้าเรารับใช้พระเจ้าอย่างมีความสุข แม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับความทุกข์มากมาย เชื่อว่าจะมีคนอีกจำนวนมากยินดีเข้ามามีส่วนในการรับใช้ร่วมกับเรา
สรุป
พระเจ้าอนุญาติให้เราต้องพบความทุกข์ เพื่อในความทุกข์นั้นเขาจะได้เปล่งประกายแห่งความหวังใจในความเชื่อให้เจิดจ้ายิ่งขึ้น เพื่อในความทุกข์นั้น เราจะได้รับความชูใจจากพระเจ้า และเราจะสามารถนำเอาความชูใจนี้สืบสานไปสู่คนอื่น ๆ ต่อไป